ไว้อาลัย กรุณา กุศลาสัย
การพูดคุยระหว่างทางมะนาลี เลห์ ทำให้รู้ว่าหนึ่งในหนังสือในใจของเพื่อนช่างภาพหนุ่มคือ ชีวิตที่เลือกไม่ได้ ประวัติชีวิตของอาจารย์กรุณา กุศลาศัย ซึ่งฉันเองก็เคยอ่านและยังจดจำความมุ่งมั่นของสามเณรน้อยกรุณาที่มุ่งมั่นเดินทางไปกับท่านโลกนาถ…บอกเขาไปว่ามีเพื่อนที่เรียนจบจากอินเดียแแวะไปดูแลท่านที่บ้านพรานนกอยู่บ่อยๆ
เขาบอกว่าอยากไปเยี่ยมอาจารย์ ไปเมื่อไรบอกด้วย
กลับมาเมืองไทย โทรศัพท์คุยกับเพื่อนคนนั้น เขาบอกว่าช่วงนี้อาจารย์เริ่มไม่สบายมากขึ้นด้วยโรคชรา จำผู้คนไม่ค่อยได้และย้ายไปอยู่กับลูก
ช่วงนี้หยิบหนังสือ “พบถิ่นอินเดีย” ของท่านยวาหระลาล เนห์รูที่อาจารย์กรุณาเป็นผู้แปลมาอ่านได้หลายวันแล้ว นึกชื่นชมและศรัทธาผลงานแปลของท่านเสมอ ไม่ว่าจะเป็น “พบถิ่นอินเดีย” (The Discovery of India) หรือ “ข้าพเจ้าทดลองความจริง” (The Story of My Experiments with Truth) ของท่านคานธี เพราะหากไม่ได้ปราชญ์ด้านภ่ารตะที่เชี่ยวชาญด้านภาษาฮินดีถึงขนาดสอบได้ที่ 1 ของประเทศอินเดียและใช้ชีวิตในอินเดียมานับสิบปีมาแปล พร้อมใส่เชิงอรรถอธิบายขยายความประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ ค่านิยม หรือศัพท์บางคำ คงไม่สามารถเข้าใจเรื่องราวได้อย่างลึกซึ้งแน่ๆ
อ่าน “พบถิ่นอินเดีย” ไม่ทันจบก็ได้ยินข่าวว่าท่านเสียชีวิตแล้ว
วงการภารตศึกษาได้สูญเสียเสาหลักลงแล้ว
ขอตัดตอนจดหมายของเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยที่ตีพิมพ์ใน “ข้าพเจ้าทดลองความจริง” มาเผยแพร่เพื่อประกาศเกียรติคุณของท่านดังนี้ค่ะ
นายกรุณา กุศลาสัย ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงในด้านความรู้เกี่ยวกับวิชาภาษาฮินดี ภาษาสันสกฤต และภารตวิทยา สมควรจะได้รับการสดุดีชื่นชมจากพวกเรา ในฐานะที่ได้แปลอัตชีวประวัติ ฉบับสมบูรณ์ ที่มีชื่อว่า “ข้าพเจ้าทดลองความจริง ของมหาตมา คานธี ออกสู่พากย์ไทย…
…ข้าพเจ้านึกไม่ออกว่าจะมีผู้ใดที่มีคุณวุฒิมากกว่านายกรุณา ในอันที่จะถ่ายทอดแนวความคิดและจิตใจของท่านมหาตมา ให้ประชาชนชาวไทยได้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง…
…เราเป็นหนี้บุญคุณต่อนายกรุณาที่ได้ใช้เวลาเกือบชั่วชีวิต ในการสร้างความเข้าใจอันดีงามระหว่างชาวไทยกับชาวอินเดีย ด้วยการเขียนหนังสือและด้วยกิจกรรมอื่นๆ…
นอกเหนือจากคุณูปการด้านภารตวิทยา สิ่งหนึ่งที่ฉันนึกชื่นชมแกมอิจฉาอยู่เสมอคือความผูกพันระหว่างท่านกับภรรยาที่ “ไม่ทิ้งกัน” ดังนั้นจึงมักมีชื่อคู่เคียงกันในงานแปล
“กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย” ส่วนนอกเวทีบรรณพิภพ ท่านก็ยังอยู่ดูแลกันและกันอย่างน่าชื่นชม…จนลาจากกันเมื่อท่านอายุ 89 ปี
ด้วยเหตุนี้ตอนไปร่วมงานแสดงมุทิตาจิตครบรอบ 84 ปี ของท่านที่เรือนร้อยฉนำ แถวเจริญนครเมื่อหลายปีมาแล้ว จึงไปเข้าแถวรอรับเข็มกลัดรูปของท่านทั้งสองจากมือของท่านและยังเก็บไว้จนถึงทุกวันนี้
แม้ท่านจะจากไป แต่ผลงานที่ท่านฝากไว้ยังคงอยู่ตราบนานเท่านั้น
ขอให้ท่านไปสู่สุขคติค่ะ
ผู้อ่านมากที่สุด
- มหาภารตะ
- กรุณา กุศลาสัย ชีวประวัติ
- คีตาญชลี บทประพันธ์ของรพินทรนาถ ฐากุร
- เรืองอุไร กุศลาสัย
- ชีวประวัติ เรืองอุไร กุศลาสัย
- ช่วงวัย ของกรุณา กุศลาศัย
- เรืองอุไร กุศลาสัย จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
- Sulak Sivaraksa writes Karuna Kusalasaya
- วันเกิด เรืองอุไร กุศลาสัย
- ภารกิจแห่งเกียรติยศของทูตเชลยศักดิ์ กรุณา กุศลาสัย